วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูถึงสถาบันคุ้มครองเงินฝาก


มาตรการ 4 เมษายน 2527 การพังทลายของตลาดหุ้นในปี 2521 ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ทำให้กระทบถึงสภาพคล่องอย่างหนัก กระทบถึงฐานะของสถาบันการเงินทั้งระบบ ทางการ “เข้าควบกิจการ 25 ไฟแนนซ์และเครดิตฟองซิเอร์” รู้จักกันในชื่อ “โครงการ 4 เมษายน 2527”

27 พฤศจิกายน 2528  ทางการตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(Financial Institutions Development Fund FIDF) วิสัยทัศน์ เพื่อช่วยฟื้นฟูและช่วยเหลือสภาพคล่องสถาบันการเงิน เมื่อสถาบันการเงินประสบปัญหาสภาพคล่อง จะทำให้สถาบันการเงินมั่นคง ไม่ล้ม และคุ้มครองเงินฝาก เงินสมทบกองทุนได้จากเงินจากกระทรวงการคลังในช่วงก่อตั้ง และเรียกเก็บ 0.1 เปอร์เซ็นต์ของเงินฝากจากสถาบันการเงินในช่วงแรก และช่วงหลังเรียกเก็บ 0.4 เปอร์เซ็นต์ของเงินฝาก สมทบเข้าเป็นเงินกองทุน

กองทุนเพื่อการฟื้นฟู ใช้เวลากว่า 10 ปี เพื่อการบริหารจัดการคืนเงินฝากของประชาชนที่ประสบปัญหาจากการล้มลงของไฟแนนซ์ในโครงการ 4 เมษา เจ้าของเงินฝากที่ต้องการคืนเงินต้นเร็ว ก็ขอรับเฉพาะเงินต้น ไม่รับดอกเบี้ยเป็นต้น ไฟแนนซ์บางแห่งก็ขายคืนให้เอกชนได้ เช่นตะวันออกไฟแนนซ์เป็นต้น
มาตรการ 14 สิงหาคม 2541 การพังทลายของตลาดหุ้นในปี 2537 ทำให้ค่าเงินบาทเสียหาย ส่งผลให้ ระบบขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ ทางการได้สั่งยุติการดำเนินงานสถาบันการเงิน 56 แห่ง มีผลทำให้เกิดหนี้ไว้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟู 1.392 ล้านล้านบาท คล้ายๆกันกับที่เคยเกิดขึ้นจากการเข้าควบกิจการ 4 เมษายน 2527 เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่ครั้งนี้รุนแรงและร่ายแรงกว่า

12 ปี (2541-2553) ของการบริหารจัดการหนี้ 1.392 ล้านล้านบาทของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู

ธปท. รับผิดชอบชำระคืนหนี้ ชำระหนี้ 249,898 ล้านบาท หรือเฉลี่ยชำระหนี้ปีละ 20,825 ล้านบาท


กระทรวงการคลัง รับผิดชอบการชำระดอกเบี้ย ชำระดอกเบี้ย 604,473 ล้านบาท หรือเฉลี่ยชำระดอกเบี้ยปีละ 50,373 ล้านบาท เงินที่ใช้ชำระดอกเบี้ย เป็นภาษีที่มาจากประชาชน

ยังมีหนี้คงเหลือ 1,142,102 ล้านบาท

(สรุป รวมหนี้และการชำระดอกเบี้ย 12 ปี เท่ากับ 1.392 + 0.604,473 = 1.9965 ล้านล้านบาท)

ขณะที่ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูมีสินทรัพย์อยู่ 200,354 ล้านบาท

สมมุติว่า มีการขายสินทรัพย์ทั้งหมด เพื่อใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯจะยังมีหนี้คงเหลือ 941,748 ล้านบาท ดูจากประวัติการใช้คืนหนี้ 12 ปีที่ผ่านมา ประเมินได้ว่า หนี้ที่เหลือ จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 45 ปี จึงจะใช้คืนได้หมด

นั่นคือ..

วิสัยทัศน์ กองทุนเพื่อการฟื้นฟู ล้มเหลว กองทุนฯ นอกจากไม่สามารถฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้แล้ว ธนาคารและสถาบันการเงินกลับล้มทั้งระบบ รวมทั้งเกิดหนี้กองโตให้ระบบด้วย

ความเสียหายที่เกิดจากการขาดสภาพคล่อง ในช่วงเวลาเดียวกันกับโครงการ 14 สิงหาคม 2541 ของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่ามีเท่าใด ได้มีการบริหารจัดการด้วยวิธีอื่น แยกจากงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู แสดงว่ามีความเสียหายของระบบที่นอกเหนือจากที่บันทึกไว้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูด้วย

11 สิงหาคม 2551 ทางการตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Deposit Protection Agency DPA) วิสัยทัศน์ ให้ความคุ้มครองเงินฝาก คล้ายกับวิสัยทัศน์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู แต่ลดภาระความรับผิดชอบลงมาก 1) ไม่ช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงิน (ไม่อัดฉีดสภาพคล่อง) เมื่อสถาบันการเงินที่มีปัญหาจากการขาดสภาพคล่อง 2) ไม่คุ้มครองเงินฝากทั้งจำนวน แต่คุ้มครองเงินฝากเฉพาะวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท

แท้จริงแล้ว ธปท.และกระทรวงการคลัง จะต้องดูแลตลาดเงินของประเทศทั้งระบบ ทั้งสถาบันการเงิน ทั้งค่าของเงิน และเงินฝากของระบบก็ต้องดูแลเต็มจำนวน 100% อุปมาอุปไมย เหมือนกองทัพ ต้องดูแลแผ่นดินไทยทุกตารางนิ้ว สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็ต้องให้ความคุ้มครองเงินฝากทุกบาททุกสตางค์ด้วยเช่นกัน (รวมทั้งการรักษาค่าเงินไม่ให้เสียหาย ทำให้สถาบันการเงินมั่นคง)

หากเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างผิดปกติอีก เงินฝากส่วนที่เกินบัญชีละ 1 ล้านบาท ที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง จะย้ายไปฝากที่ธนาคารรัฐ ที่รัฐให้ความคุ้มครองเงินฝากโดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจจะเป็นผลเร่งให้สภาพคล่องของธนาคารเอกชนลดลงอย่างผิดปกติ และล้มลงทั้งระบบง่ายได้

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยังคงคิดแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่คิดแก้ไขต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา เช่นเดียวกันกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟู ประวัติศาสตร์แสดงไว้แล้วว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูล้มเหลว เห็นได้จากสถาบันการเงินล้มลงทั้งระบบ และเกิดหนี้กองโต เป็นไปได้ งานของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็จะล้มเหลวเช่นเดียวกันกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟู จะทำให้สถาบันการเงินก็จะล้มลงทั้งระบบอีก และหนี้กองโตก็จะเกิดอีก

กองทุนเพื่อการฟื้นฟู จะยุติบทบาทลงหลังการตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ 5 ปี หรือจะยุติบทบาทลงในปี 2556 แต่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูยังมีหนี้คงค้างอยูประมาณ 1 ล้านล้านบาท เราจะเอาหนี้คงค้างนี้ไปไว้ที่ไหน

ใครจะรับผิดชอบ “วิสัยทัศน์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู” ที่ไม่ประสบผลสำเร็จต่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่ส่งผลให้ตลาดเงินล้มลงทั้งระบบ ตลาดเงินตราพังทลายลง

หนี้ก้อนใหญ่กองแรกที่เกิดจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู ยังคงค้างอยู่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ยังชำระไม่หมด ก็อาจจะเกิดหนี้ก้อนใหญ่กองใหม่จากสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นมาให้เป็นปัญหาอีก

แทนที่เราจะเรียนรู้ กลับตั้ง สถาบันคุ้มครองเงินฝากที่มีวิสัยทัศน์แบบเดียวของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูขึ้นมาอีก และลดความรับผิดชอบที่จะช่วยเหลือสภาพคล่องที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน และไม่คุ้มครองเงินฝากทั้งจำนวน

เราจะทำอย่างไรกับความเสียหายจากวิสัยทัศน์ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่อาจจะเกิดอีกขึ้นในอนาคต ที่จะเกิดขึ้นแบบเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟู

เงินนำส่ง ที่เรียกเก็บจากสถาบันการเงินสูงถึง 0.4 เปอร์เซ็นต์ ของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับความคุ้มครอง  เงินเรียกเก็บ 0.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นอัตราเรียกเก็บที่สูง ทำให้สถาบันการเงินมีต้นทุนทางด้านการเงินสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์และฝากประจำอยู่ที่ระดับ 0.50 - 3.00 เปอร์เซ็นต์ เมื่อบวกเงินเรียกเก็บเข้ากองทุน 0.4 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนทางการเงินก็จะเพิ่มมาเป็น 0.90 – 3.40 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของการผลิตของระบบสูงขึ้น

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก อาจจะเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนได้ปีละประมาณ 14,000-28,000 ล้านบาทและมากกว่า อนาคตอาจจะมีเงินเรียกเก็บสูง 0.5 – 1.0 ล้านล้านบาทและมากกว่า เมื่อเกิดปัญหาสถาบันสถาบันการเงินขาดสภาพคล่อง และล้มลงอีก มันก็ไม่พอคุ้มครองเงินฝากทั้งหมดอยู่ดี เนื่องจากเงินฝากของระบบอาจจะสูงถึง 7-10 ล้านล้านบาท ก็จะต้องเป็นภาระที่ภาษีของประชาชนเหมือนเดิม เป็นอภิมหาความเสียหายของประเทศที่ซ้ำซาก

ทุนสำรองการเงินระหว่างประเทศ กับการเพิ่มขึ้นและลดลงสภาพคล่องของระบบ


เวลานี้ทุนสำรองสูงกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการสูงอย่างผิดปกติ ทำให้สภาพคล่องของระบบสูง เราเคยพยายามจะหยุดยั้งเงินทุนไหลเข้าอย่างผิดปกติมาแล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วยมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า ซึ่งไม่ได้ผล เมื่อมันสูงขึ้นอย่างผิดปกติได้ มันก็อาจจะลดลงอย่างผิดปกติได้

การลดลงอย่างผิดปกติ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ทำให้ประเทศไทยต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง วงกลมใหญ่ในภาพ คือช่วงการลดลงของทุนสำรอง ที่สะท้อนให้เห็นว่าสภาพคล่องของระบบเสียหาย จนต้องการเข้าโครงการ IMF ครั้งที่ 2 ที่ทำให้สถาบันการเงินล้มลงทั้งระบบ ที่ทำให้เกิดหนี้ต่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟู 1.392 ล้านล้านบาท

สภาพคล่องของระบบที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ อาจจะพังทลายลงอย่างผิดปกติ ในวันใดวันหนึ่งได้

บันทึกความเสียหาย


ดูจากส่วนแบ่งของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ส่วนธนาคารของเอกชน(% คนไทย) ไม่มีธนาคารใดเป็นของคนไทยแล้ว ไม่มีธนาคารใดที่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารกรุงเทพเหลือเป็นของคนไทย 10.39 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารกสิกรไทยเหลือเป็นของคนไทย 1.37 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารกรุงไทยที่เป็นของรัฐ ที่ดำเนินงานแบบเอกชน ก็ไม่เหลือฐานะที่เป็นของคนไทย เนื่องจากเป็นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูที่มีปัญหาหนี้ก้อนโต

ทุกวันนี้เราไม่ได้ยืนอยู่บนขา(ทุน)ตนเอง แต่เรายืนอยู่บนขา(ทุน)ของกองทุนหลายสัญชาติ ดูแล้วเหมือนเราเสียกรุงครั้งที่ 3 เสียฐานะความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ของประเทศ เลวร้ายกว่าการเสียกรุง 2 ครั้งที่ผ่านมา เป็นการเสียกรุงที่ยากที่จะกอบกู้อิสรภาพกลับคืนมา

การแก้แต่ปลายเหตุของปัญหา ไม่แก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ปัญหาจึงไม่สามารถยุติลงได้ และปัญหาก็เกิดซ้ำรอย ซ้ำซาก ความเสียหายที่เกิดขึ้น สูงมาก เท่ากับการเสียชาติ หากเป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกทิศทาง ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูหรือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็ได้